บทความ
การอาชีวศึกษา
วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ban-pic-07.gif (17027 bytes)

barcyan.gif (450 bytes)

               อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญยิ่ง   เพราะเป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียน
มีทักษะ มีฝีมือที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนา
และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข      ในอดีต อาชีวศึกษาถือว่าเป็นองค์หนึ่งของ
การศึกษาที่ประกอบด้วย พุทธิศึกษา พลศึกษา  จริยศึกษา   และหัตถศึกษา  แปลว่าจะต้อง
พัฒนาผู้เรียนทั้งทางด้านปัญญา ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านความสามารถเพื่อประกอบ
การงานอาชีพ
               พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542    ก็ให้ความสำคัญกับการ
อาชีวศึกษาไม่น้อยไปกว่าการศึกษาประเภทอื่น ๆ ดังจะเห็นได้จาก มาตรา 7 ที่กำหนดว่า
              
               ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับ
การเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง
เป็นประมุข   รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่  เสรีภาพ  ความเคารพ
กฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจ
ในความเป็นไทย   รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ  
รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาไทย   และความรู้อันเป็นสากล   ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสามารถในการประกอบอาชีพ   รู้จักพึ่ง
ตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์   ใฝ่รู้   และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

               และมาตรา 20 ยังได้กำหนดว่า
               การจัดการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ ให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษา
ของเอกชน  สถานประกอบการ   หรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ
ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
               มาตรานี้ชี้นำกลายๆ ว่า จำเป็นจะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา   เพื่อใช้ใน
การจัดอาชีวศึกษาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ   ทั้งนี้เพื่อให้การอาชีวศึกษาจัดได้สนองตอบต่อความ
ต้องการของบุคคลและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ แล้ว       ในระหว่างยกร่างและการ
พิจารณาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ    ได้มีการพูดถึงการอาชีวศึกษาเป็นอย่างมากว่า  
ควรจะจัดอย่างไรจึงจะเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ   คือการประกอบการงานอาชีพ
ทั้งการงานอาชีพอิสระ    และการงานอาชีพในสถานประกอบการต่าง ๆ ในที่สุด  ส่วนใหญ่
เห็นควรมีพระราชบัญญัติอาชีวศึกษาขึ้นเป็นอีกฉบับหนึ่งเป็นการเฉพาะ   บัดนี้จึงถึงเวลาที่
จำเป็นจะต้องช่วยกันคิด   เพื่อหารูปแบบและทิศทางของการอาชีวศึกษาใหม่    เพื่อนำไปสู่
การจัดทำเป็นพระราชบัญญัติตามเจตนาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติต่อไป     
               เหตุที่ต้องคิดแสวงหารูปแบบใหม่ของการอาชีวศึกษาอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่อง
ที่สำคัญยิ่ง ก็คือวิถีการดำรงชีวิต การทำมาหากิน การประกอบการงานอาชีพของคนในชาติ
เปลี่ยนแปลงไป   จากวิถีการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย   พึ่งการเกษตรเป็นหลัก   กลายเป็นว่ามี
การงานอาชีพเพิ่มมากขึ้น   จากโครงสร้างหลักๆ ของการงานอาชีพ  คือ   เกษตรกรรม
อุตสาหกรรม พาณิชย์กรรม และอาชีพบริการอิสระต่าง ๆ    ถ้าวิเคราะห์จำนวนประชากร
ในแต่ละกลุ่มอาชีพพบว่าอาชีพเกษตรกรรมลดจำนวนลงค่อนข้างรวดเร็ว    ในประเทศที่
ก้าวหน้า เช่น สหรัฐอเมริกา       มีคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียง 1- 2 เปอร์เซ็นต์
เท่านั้น    ขณะเดียวกันอาชีพช่างและพาณิชย์กรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังมี
ความซับซ้อนของการงานอาชีพมากขึ้น    ยิ่งเมื่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท
ในวิถีชีวิตมากขึ้น
               การงานอาชีพเป็นจำนวนมาก ก็ต้องพึ่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากขึ้น   การงาน
เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ   และการสื่อสารคมนาคมขยายตัวจนถือว่ายุคนี้เป็นยุคแห่ง
ข้อมูลสารสนเทศ มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกก็เกิดขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
อย่างนี้เป็นต้น    เหล่านี้เป็นเหตุผลความจำเป็นที่ต้องทบทวนรูปแบบและระบบอาชีวศึกษา
เพื่อให้กำลังคนของชาติมีความพร้อม   มีความสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้
ยิ่งในยุคระบบการค้าโลกแบบเสรี   ยิ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น   การงานอาชีพในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นการงานอาชีพด้านใดก็ตาม   พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะ
ระบบการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเร็วมาก   การงานอาชีพบางอย่างต้อง
เปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานทุกเดือน   ถ้าผู้ประกอบอาชีพไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เขาจะ
เป็นคนล้าสมัย   และไม่สามารถอยู่ในวงการอาชีพนั้นได้อย่างเท่าเทียมผู้อื่น หรืออาจต้อง
เป็นผู้แพ้ในที่สุด อาชีพบางอย่างก็เกิดใหม่และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นงานเกี่ยวกับ
เทคโนโลยีสารสนเทศดังที่กล่าวถึง   เพียงเวลาไม่กี่ปีมีการงานอาชีพใหม่ๆ มากมายมีการ
ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิต       มีการสร้างระบบคำสั่งงานที่หลากหลาย
มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เนตในรูปแบบต่าง ๆ     และที่ชัดเจนมากคือการพัฒนาสู่ระบบ
E-commerce   หรือการค้าผ่านเครือข่ายอีเลคโทรนิค ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่เอี่ยมที่ขยายตัว
อย่างรวดเร็ว
               การอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้นการผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานอาชีพ   โดยการเตรียม
คนเฉพาะด้านเฉพาะทางเพื่ออาชีพต่าง ๆ เช่น ช่าง การค้าขาย การควบคุมเครื่องจักร
อุตสาหกรรม   เมื่อเรียนจบแล้วผู้เรียนอาจจะเป็นผู้ล้าสมัย   เพราะว่าระหว่างเรียนเครื่อง
จักรกล เครื่องมืออีเลคโทรนิคต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งกว่านั้นเครื่องมือต่าง ๆที่อยู่
ในสถานศึกษาที่มีใช้มานาน ๆ ก็ล้าสมัย ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงในสถานประกอบการ
ผู้จบการศึกษาก็จะเป็นผู้ล้าสมัยมากขึ้น การศึกษาต้องไม่ทำให้ผู้เรียนล้าสมัย   แต่ต้องให้
พร้อมที่จะเข้าสู่การงานอาชีพ  
               การอาชีวศึกษาเพื่อเข้าสู่การงานอาชีพที่ดี ผู้เรียนควรได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ
จริง   และเรียนรู้ตามวิถีทางความถนัด ความสามารถของแต่ละคนที่แตกต่างกัน การเรียน
อาชีวศึกษาจึงต้องเป็นสิ่งเดียวกับการปฏิบัติงาน ไม่ใช่การเรียนเพื่อเตรียมสู่การปฏิบัติงาน
ผู้เรียนควรได้เรียนในสถานการณ์จริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   การจะเป็นเช่นนี้ได้ก็คือ
การเรียนในสถานประกอบการนั่นเอง   และการจะทำเช่นนี้ได้   ก็ต้องทำให้สถานศึกษากับ
สถานประกอบการเป็นสถานที่เดียวกัน  
               มีรูปแบบการทำให้สถานศึกษากับสถานประกอบการเป็นสถานที่เดียวกันอยู่
สองรูปแบบคือ   รูปแบบแรกแปลงสถานศึกษาให้เป็นสถานประกอบการ   ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่
ทำได้ยาก แต่ก็เป็นไปได้ คือให้กระบวนการผลิตต่าง ๆ อยู่ในสถานศึกษาด้วย หรือให้สถาน
ศึกษาทำธุรกิจบริการหรือพาณิชยกรรม     ซึ่งมีสถานศึกษาหลายแห่งได้พยายามทำอยู่  
สำเร็จเป็นผลดีบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง   อีกรูปแบบหนึ่งคือการให้สถานประกอบการเป็นสถาน
ศึกษาด้วย   รูปแบบนี้ยังมีการทำไม่มาก แต่ก็พอมีและเป็นผลดีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกัน
ทั่วไป   แต่การทำเช่นนี้ภาคเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการและสถานประกอบการ
มักขาดความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย ทำให้รูปแบบนี้ไม่เกิด
ขึ้นมากเท่าที่ควร เลยทำให้เกิดรูปแบบผสม   คือเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างสถาน
ศึกษากับสถานศึกษา    ซึ่งดูจะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก
               คงเป็นด้วยเหตุที่อยากให้สถานประกอบการกับสถานศึกษาเป็นสิ่งเดียวกัน
นโยบายการส่งเสริมการอาชีวศึกษา จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมการขยายตัวของภาคเอกชน
เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดอาชีวศึกษา       โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สถานประกอบการ
ขนาดใหญ่ได้สนใจร่วมจัดการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อการงานอาชีพมากขึ้น การทำ
เช่นนี้จะทำให้สถานประกอบการได้กำลังคนที่สอดคล้อง กับความต้องการของตน
               การอาชีวศึกษา และการฝึกอบรม   ควรจะมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย
ตามสภาพการทำงานในสถานประกอบการ   และตามลักษณะของเทคโนโลยี   ว่ามีความ
ซับซ้อนเพียงใด การอาชีวศึกษาไม่ควรมีหลักสูตรที่ตายตัว และมีรูปแบบโครงสร้างเหมือน
หลักสูตรการเรียนรู้ที่เน้นทางวิชาการ   หลักสูตรต้องเน้นการฝึกปฏิบัติหรือการปฏิบัติงาน
จริง   หลักสูตรจึงต้องบูรณาการระหว่างวิชาการกับการปฏิบัติเข้าด้วยกัน หลักสูตรควรมี
ความยืดหยุ่น    สั้นยาวที่แตกต่างกันตามสภาพของทักษะที่ต้องการให้ความสำคัญในการ
ฝึกปฏิบัติ อาชีวศึกษาไม่ควรมีเฉพาะหลักสูตรมาตรฐาน เช่น ปวช. หรือ ปวส. แต่อาจเป็น
หลักสูตร 3 วัน 7 วัน 1 เดือน หรือเป็นหลักสูตรระยะยาว 1 ปี ถึง 3 ปี เป็นต้น หลักสูตระยะ
ยาวคงต้องจัดเป็นกลุ่มทักษะเพื่อความสะดวกในการดูแลให้การเรียนรู้   และการติดตาม
ประเมินผลหลักสูตรควรเป็นรูปแบบสะสมหน่วยความสำเร็จการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ  แต่ละ
หน่วยหรือแต่ละ Module ก็คือความสำเร็จแต่ละขั้นของผู้เรียน   การเรียนกับการทำงาน
เนื่องจากเป็นสิ่งเดียวกัน    การเรียนรู้จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรที่ตายตัว   และการเป็น
นักศึกษากับการเป็นผู้ทำงานก็ต้องเป็นได้ในเวลาเดียวกัน   การจบการศึกษาช้าหรือเร็ว
ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความพอใจของผู้เรียน    และการจะได้รับประกาศนียบัตร
รับรองว่าจบการศึกษาถึงชั้นใดก็ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการเรียนรู้สะสมว่าควรรับรอง
มาตรฐานว่าเทียบได้ถึงระดับใด
               อาชีวศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิต คือผู้เรียนสามารถเรียนได้ตลอดเวลา
ไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัย    กลุ่มเป้าหมายควรเป็นคนทุกคนที่สนใจมุ่งเสริมทักษะเพื่อเข้าสู่
การงานอาชีพ       และการงานอาชีพที่หลากหลายก็คงต้องการคนที่หลากหลายมีความ
ล้ำลึกทางทักษะและความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน   ตั้งแต่ระดับเบื้องตนจนถึงระดับ
สูงยิ่งขึ้น   นั่นคืออาชีวศึกษาควรจัดได้ตั้งแต่หลักสูตรเบื้องต้นจนถึงหลักสูตรที่เทียบได้กับ
ระดับปริญญาตรีหรือโท   หรือแม้แต่ระดับปริญญาเอก ที่เน้นการค้นคว้าวิจัยในระดับสูง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของตลาดการงานอาชีพ
               กล่าวมาถึงตรงนี้คงเริ่มมองเห็นความจำเป็นและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของ
การอาชีวศึกษาอยู่บ้างไม่มากก็น้อย    ได้เคยพบปะกับเจ้าของสถานประกอบการต่างก็
เรียกร้องรูปแบบการอาชีวศึกษาเช่นนี้   แต่การอาชีวศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ จะเปลี่ยนรูปแบบ
ได้คงต้องเปลี่ยนหลาย ๆ อย่าง    รวมทั้งโครงสร้างการบริหารที่เหมาะสมด้วย    ซึ่งเรื่องนี้
จะนำมาแสดงความเห็นในโอกาสต่อไป

DOWNLOAD           คลิกกลับเมนูหลักบทความวิชาการ

พนม  พงษ์ไพบูลย์
8 พฤษภาคม 2543

flow41.gif (1738 bytes)Copyright @ : 2000  Ministry of Education, THAILAND
แหล่งข้อมูล : ท่านพนม พงษ์ไพบูลย์
รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนา และนำเสนอ :

น.ส.นิภา แย้มวจี / (12 พ..ค. 2543)
กลุ่มงานจัดการฐานข้อมูล   กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ
ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218   

ติดต่อผู้ดูแลระบบ :
website@emisc.moe.go.th
flow41.gif (1738 bytes)